“ติดมือถือมากไป” แก้ปัญหาอย่างไรดี

          ในยุคที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนก้มลงมองโทรศัพท์มือถือในมือของตัวเองนั้น คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า “โทรศัพท์มือถือ” หรือ “สมาร์ทโฟน” มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราไม่มากก็น้อย ด้วยความสะดวกสบายในการใช้งาน และมีฟังก์ชันที่หลากหลาย แถมยังพกพาได้ไม่ลำบาก จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอด ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไปแล้ว แต่การที่เราก้มหน้าก้มตามองแต่หน้าจอมือถือ จนไม่เป็นอันทำงานทำการนี้เอง อาจเป็นที่มาของ “โรคติดมือถือ” หรือ “โรคโนโมโฟเบีย”
          “โรคติดมือถือ” หรือ “โรคโนโมโฟเบีย” (No Mobile Phone Phobia) เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีอาการหวาดกลัว วิตกกังวล ตื่นตระหนก เมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ ๆ โทรศัพท์แบตฯหมดหรืออยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ จะเกิดความเครียด ถึงขั้นรู้สึกเวียนศีรษะ จนถึงมีอาการคลื่นไส้ นอกจากนี้โรคติดมือถือ กำลังจะได้รับการพิจารณาบรรจุไว้ในโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ในกลุ่มวิตกกังวลอีกด้วย ที่สำคัญไม่เพียงแต่ด้านร่างกายเท่านั้นที่โรคติดมือถือทำร้ายเรา แต่ด้านหน้าที่การงานเองก็ยังได้รับผลกระทบด้วย เช่น เอาแต่จ้องมือถือจนไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้ฟังหัวหน้าพูด เป็นต้น สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้ หรืออยากรู้วิธีรับมือกับโรคติดมือถือ เราก็มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย

จำกัดเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือ 

          ก่อนอื่นเราควรจะคำนวณ และบันทึกว่าในหนึ่งวัน หรือ 1 สัปดาห์เราใช้เวลากับมือถือไปเท่าไหร่ในแต่ละกิจกรรมในมือถือ จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับลดระยะเวลาในแต่ละกิจกรรมลง โดยควรเริ่มจากกิจกรรมที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่นเราใช้เวลาดูหนังในมือถือ 10 ช.ม. ต่อสัปดาห์ ก็ค่อย ๆ ลดลงมาเหลือ 9 เหลือ 8 ช.ม. ต่อสัปดาห์ตามลำดับ

หาอย่างอื่นเบี่ยงเบนความสนใจ

          ถ้ามีเวลาว่างแล้วเอามานั่งจ้องสื่อโซเชียล ไม่ก็เล่นเกมบนมือถือล่ะก็ ลองหากิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้มือถือทำบ้าง ไม่ว่าจะเป็นออกไปทานข้าวนอกบ้าน ดูหนังฟังเพลง ที่ได้อรรถรสมากกว่าการดูในจอมือถือแน่นอน จะเลือกออกกำลังกายก็ได้ เพราะนอกจากช่วยให้เราใช้เวลากับมือถือน้อยลงแล้ว ยังได้ประโยชน์กับร่างกายอีกด้วย

พูดคุยกับคนรอบข้าง

          การที่สามารถติดต่อสื่อสารกันที่ไหน เมื่อไรก็ได้ผ่านทางมือถือนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดี จนบางทีอาจทำให้เราเอาแต่ก้มหน้าก้มตาจ้องหน้าจอมือถืออยู่ตลอด แม้คู่สนทนาจะอยู่ต่อหน้าเราก็ตาม ถ้าหากเราสามารถพูดคุยกับคนรอบตัวได้โดยตรงก็ควรทำ หรือถ้ามีคนคุยด้วยก็ไม่ควรเอาแต่จ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับคนตรงหน้าแทน เพราะนอกจากเรื่องของมารยาทแล้ว ยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย แถมยังช่วยให้เราใช้เวลากับมือถือน้อยลงด้วยนะ

ปรับมุมมองและความคิด

          เมื่อมีคนส่งข้อความมาหาหรือมีการแจ้งเตือนในสื่อโซเชียลต่าง ๆ บางครั้งไม่ต้องรีบเปิดอ่านก็ได้ เพราะอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วนเสมอไป หากเป็นเรื่องสำคัญหรือเร่งด่วนจริง ๆ อีกฝ่ายคงเลือกที่จะโทรมาหาแทนส่งข้อความ ในช่วงเวลาทำงานที่ต้องใช้สมาธิ ก็ควรปิดแจ้งเตือนแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เสียงแจ้งเตือนเหล่านั้นมากระตุ้นให้เราหยิบมือถือขึ้นมาดู แต่ถ้าไม่สะดวกปรับการตั้งค่ากลับไปกลับมา จะปิดมือถือตอนที่ไม่จำเป็น หรือต้องการพักผ่อนจริง ๆ ไปเลยก็ได้ จะได้ไม่ต้องห่วงพะวงกับมือถืออยู่ตลอดเวลา 

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..