ทำอย่างไรจึงจะต่อรองเรื่องเงินเดือนได้แบบไม่น่าเกลียด

          เชื่อเหลือเกินว่าในตอนสัมภาษณ์งานนั้น จะมีอยู่หนึ่งคำถามที่พอได้ยินแล้วต้องรู้สึกวิตกกังวลกันไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นก็คือคำถามที่ว่า คุณคาดหวังค่าตอบแทนหรือเงินเดือนเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงคำถามธรรมดาทั่วไป แต่ทำไมถึงตอบได้ยากเย็นนัก หากจะเอ่ยออกไปเองก็ไม่มั่นใจ หรือหากที่บริษัทเสนอมาไม่ถูกใจจะปฏิเสธก็ลำบาก สำหรับใครที่กำลังจะไปสัมภาษณ์งานแล้วไม่มั่นใจว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร ให้ดูดีและเป็นมืออาชีพพอ ทางเราก็มีคำแนะนำดีๆ มาฝากกันในวันนี้ จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูด้วยกันเลย

          1.ดูจังหวะให้เหมาะสม อย่ารีบร้อนพูดถึงเรื่องเงินเดือน ก่อนที่จะได้พูดคุยเรื่องคุณสมบัติให้เรียบร้อยเสียก่อน การเจรจาต่อรองเงินเดือนนั้นควรเกิดขึ้นหลังจากที่ทางบริษัทได้ทาบทามคุณแล้ว เพราะนั่นจะแสดงให้เห็นว่าทางบริษัทนั้นต้องการคุณ และอำนาจในการต่อรองก็จะอยู่ในมือคุณนั่นเอง

          2.หาข้อมูลเปรียบเทียบ หากคิดจะต่อรองเรื่องเงินเดือน คุณก็ควรที่จะมีข้อมูลของฐานเงินเดือนมากพอ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะรู้ว่าตำแหน่งที่คุณต้องการนั้นมีฐานเงินเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ เมื่อทราบราคากลางแล้วค่อยนำมาพิจารณากับค่าประสบการณ์ หรือความสามารถอย่างอื่นของคุณทีหลัง

          3.มีความกล้าที่จะต่อรอง หากว่าทางบริษัทตกลงรับคุณเข้าทำงาน และแจ้งอัตราเงินเดือนที่คุณจะได้รับแล้ว ถ้าหากนั่นมากกว่าหรือเพียงพอกับที่คุณต้องการ ก็ถือว่าเรียบร้อย แต่ถ้าตัวเลขนั้นไม่เป็นไปตามที่คุณหวัง นี่คือช่วงเวลาที่คุณจะได้ต่อรองแล้ว แม้ว่าคุณจะกังวล หรือประหม่าไปบ้าง ก็ต้องเก็บความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้ก่อน และเอาความกล้าขึ้นมาแทน และต้องมีสติอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้แสดงจุดยืนของคุณอย่างเป็นมืออาชีพ

          4.พิจารณาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน การต่อรองผลประโยชน์นั้น หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบกับผลลัพธ์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นคุณจึงไม่ควรจะเอาแต่ที่ตัวเองต้องการทั้งหมดเพียงอย่างเดียวในการเจรจา อย่างในบางกรณีที่ทางบริษัทเสนอเงินเดือนให้คุณน้อยกว่าที่คุณต้องการไปบ้าง แต่สามารถเรียกร้องสวัสดิการอย่างอื่นมาทดแทนได้ เช่น จำนวนวันหยุด หรือวันพักร้อน ไปจนถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากเอาทั้งหมดมาพิจารณาแล้วก็อาจจะคุ้มกับเงินเดือนที่หายไปได้ แถมยังไม่เป็นการฝืนความรู้สึกและกดดันกับทางบริษัทอีกด้วย

          5.ถ้าไม่ได้ก็อย่าฝืน และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่การต่อรองจำสำเร็จไปด้วยดีเสมอ หากสุดท้ายแล้วทางบริษัทเสนอเงินเดือนของคุณน้อยกว่าที่ต้องการ และการเจรจาต่อรองก็ดูจะไม่เห็นผล ก็ไม่จำเป็นต้องลังเลที่จะบอกปฏิเสธไป แต่ถ้าหากว่าคุณอยากจะได้งานนี้จริงๆ คุณก็อาจลองถามทางดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่เงินเดือนจะปรับขึ้น หากผ่านช่วงทดลองงาน หรือหากคุณได้แสดงศักยภาพให้ทางบริษัทได้เห็นแล้ว จะมีการเจรจาทบทวนข้อเสนอกันอีกครั้ง

          6.ข้อตกลงต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าในการสัมภาษณ์จะตกลงกันไว้อย่างดีแค่ไหน คุณต้องจำให้ขึ้นใจว่าทั้งหมดนั้นยังไม่เป็นผลหากยังไม่ได้เซ็นสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นก่อนเซ็นสัญญาหรือเอกสารอะไรก็ตาม ควรอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วน ว่าเนื้อหานั้นเป็นตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ จะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง

          แม้ว่าการเจรจาต่อรองเงินเดือนนั้นจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็อยากให้คุณรวบรวมความกล้าที่จะต่อรองดูก่อนเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ และผลประโยชน์ที่คุณควรจะได้รับ และแม้ว่าสุดท้ายแล้วการเจรจานั้นอาจไม่ได้ตามที่คุณหวัง แต่ก็ยังดีกว่าการไม่ต่อรองอะไรเลย เพราะฉะนั้นเตรียมตัวให้ดี ศึกษาข้อมูลให้พอ และมั่นใจในตัวเองเข้าไว้ รับรองว่าเมื่อถึงเวลาคุณจะไม่พลาดแน่นอน 

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..