รับมือความเครียดหลังกลับมาทำงาน วิธีจัดการกับภาวะ ‘Post-Vacation Blues ซึมเศร้าหลังหยุดยาว’
ภาวะเครียดหลังหยุดยาว อันตรายหรือไม่?

               ในวันสุดท้ายของการไปเที่ยว เชื่อว่าแทบทุกคนจะเริ่มรู้สึกเหี่ยว งอแง ขี้เกียจ เครียด ไม่อยากให้พรุ่งนี้เป็นวันทำงาน แต่ความจริงมันแสนจะโหดร้ายและหลีกหนีไม่พ้น ทุกคนล้วนต้องกลับไปทำงานเพื่อหาเงินไปเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งความรู้สึกในด้านลบดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะ Post-Vacation Blues ได้ ว่าแต่ภาวะนี้คืออะไร? เป็นอันตรายหรือเปล่า? มีวิธีจัดการกับภาวะนี้ได้อย่างไรบ้าง? ในบทความนี้ พวกเราจะมาบอกเคล็ดลับกัน

รวมวิธีรับมือ Post-Vacation Blues ภาวะเครียดหลังหยุดยาว

Post-Vacation Blues คืออะไร?

               ภาวะ Post-Vacation Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว ไม่ใช่ภาวะที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่เป็นภาวะที่ทำให้เรารู้สึกเฉาเพราะโดนช็อตฟีลหลังจากที่เราได้สัมผัสกับความสนุกหรือความผ่อนคลายแบบเต็มแม็กซ์ และต้องกลับมาเข้าลูปเดิม ๆ ของชีวิต
               การทำงานอันแสนน่าเบื่อและไม่อยากทำ ซึ่งอาการของ Post-Vacation Blues มีตั้งแต่ ความรู้สึกเศร้า เหงา อ่อนล้า หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ เครียด ส่วนระยะเวลาในการเกิดภาวะนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ได้ไปเที่ยว ยิ่งไปเที่ยวนาน ภาวะนี้ยิ่งอยู่นาน แต่โดยส่วนใหญ่ ภาวะนี้จะหายไปเองได้ภายใน 2-3 วัน

อาการเครียดจาก Post-Vacation Blues เป็นอย่างไร?

ถ้าไม่อยากเจอภาวะนี้ ทำอย่างไรได้บ้าง?

           1. ซ้อมกลับเข้าสู่โหมดทำงาน

               วิธีนี้เป็นวิธีการที่นักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านแนะนำเพื่อปรับจูนให้วิถีชีวิตไม่ช็อตฟีล
เกินไป หนึ่งในนั้นก็คือ Dr. Andrea Bonior นักจิตวิทยาคลินิกที่สหรัฐอเมริกา เธอได้กล่าวว่าเธอเคยพบเห็นกับผู้คนที่ต้องทุกข์ทรมานกับ Post-Vacation Blues มามากมาย นั่นก็เพราะพวกเขาเหยียบเบรกจากการพักผ่อนแรงเกินไปจนหน้าทิ่ม ทางที่ดี พวกเขาควรสำรองเวลาสักเล็กน้อยไว้สำหรับปรับตัว ดังนั้น พวกเราจึงขอแนะนำให้ทุกคนได้ลองเผื่อเวลาไว้ปรับจูนตัวเองให้รอยต่อระหว่างโหมดสุขสุดขีดและโหมดทำงานไม่ขรุขระจนเกินไป และซ้อมเข้าสู่โหมดทำงานก่อนกลับไปทำงานจริง ลองกลับมานอนตื่นเช้า ใช้ชีวิตตามตาราง ตอบเมล์ ตอบไลน์งานบ้าง แต่ไม่ต้องเร่งรีบเท่าวันทำงานจริง แค่นี้ก็ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะนี้น้อยลงแล้ว

           2. รู้สึกให้เหมือนตอนเที่ยว

               Dr. Laurie Santos ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อสังเกตสำหรับเรื่องนี้ไว้ว่า แม้ว่าทริปการท่องเที่ยวจะจบลง แต่ความรู้สึกของการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องจบลงด้วย นั่นหมายความว่าให้ลองเปิดโอกาสทำอะไรสนุก ๆ ใหม่ ๆ ในชีวิตปกติให้เหมือนกับช่วงที่ไปเที่ยวนั่นเอง เราอาจจะลองไปชิมฝีมือของร้านอาหารที่ไม่เคยแวะไปมาก่อน แอบไปเดินเล่นในเส้นทางที่ยังไม่เคยใช้ใกล้บ้าน (แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยนะ) หรือจองคอร์สสปาไว้พักผ่อนหลังเลิกงาน แค่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ความเหนื่อยล้าหรือความเครียดจาก Post-Vacation Blues ลดลงได้

               ในอีกแง่หนึ่ง ความรู้สึกของการท่องเที่ยวที่ Dr. Laurie Santos ได้กล่าวถึงก็รวมถึงการลองใช้เวลาสักเล็กน้อยกลับมาทบทวนความทรงจำและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผ่านมาด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการดึงความสุขกลับมาอยู่ในความรู้สึกของตัวเองอีกครั้ง ยังเป็นการเติมเชื้อเพลิงแห่งแรงบันดาลใจสำหรับการตั้งเป้าหมายของทริปต่อไปก็ได้เช่นกัน

จัดการกับความเครียดโดยทบทวนความทรงจำดี ๆ จากการเที่ยว

           3. เสียเหงื่อให้กีฬา ดีกว่าเสียเวลากับความเครียด

               กีฬา ๆ เป็นยาวิเศษ มีความหมายตามที่เนื้อเพลงกราวกีฬาได้กล่าวไว้ เพราะมีงานวิจัยมากมายรอบโลกที่บ่งชี้ว่าการออกกำลังกายช่วยลดภาวะซึมเศร้าลงได้ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ถึงแม้ว่า Post-Vacation Blues จะไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว แต่การออกกำลังกายก็ช่วยให้เราก้าวข้ามหรือป้องกันภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคนที่ไม่ชอบเข้าฟิตเนสหรือเล่นกีฬาใด ๆ การเต้นแอโรบิกหรือการเดิน
วันละ 30 นาทีก็เป็นวิธีที่ดีที่น่าลอง เพราะนอกจากจะทำให้อารมณ์สดชื่นขึ้นแล้ว ยังช่วยให้นอนหลับสบาย สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นไปด้วย

           4. นอนให้พอ

               ช่วงเวลาแห่งการท่องเที่ยวสำหรับหลาย ๆ คนคือการฉีกตัวเองให้ออกจากแผนการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ บางคนเริ่มนอนตอนพระอาทิตย์ขึ้น บางคนใช้ชีวิตแบบสุดเหวี่ยง ซึ่งนั่นทำให้ร่างกายและจิตใจของเราได้เผชิญกับความเหนื่อยล้าและความเครียดในอีกรูปแบบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว การพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นวิธีการฟื้นฟูให้ตัวเองพร้อมกลับมาสู่โหมดทำงานและเอาชนะภาวะ Post-Vacation Blues ได้เป็นอย่างดี เพราะระหว่างที่กำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ ร่างกายก็จะทยอยซ่อมแซมส่วนที่ใช้งานหนักและมีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้เอาชนะความล้าได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วงเวลาที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมักจะแนะนำให้เริ่มนอนคือช่วงประมาณ 22.00 น. เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายปล่อยโกรทฮอร์โมน (ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมร่างกาย) ออกมามากที่สุด และควรนอนหลับอย่างมีคุณภาพให้ได้ 7-8 ชั่วโมง

การนอนจะช่วยให้เราผ่อนคลายจากความเครียด

               ถ้าคุณลองทำตาม 4 ข้อด้านบนหลังท่องเที่ยวแล้วยังรู้สึกเครียดหรืออ่อนล้าในการทำงานอยู่ ปัญหาอาจจะอยู่ที่งานที่คุณทำอยู่ก็เป็นได้ ลองมาสำรวจโอกาสในสายงานใหม่ ๆ ของคุณได้ที่เว็บไซต์ www.jobtopgun.com แหล่งรวบรวมงานดี ๆ ที่เหมาะกับคุณมากกว่า 5,000 ตำแหน่ง รวมถึงสามารถอ่านรีวิวบรรยากาศการทำงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ อีกเพียบที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..