รู้สึกว่ายังเก่งไม่พอ ทำความรู้จักกับ imposter syndrome
imposter syndrome ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนรู้จริง

               เชื่อว่าทุกคนเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ เช่น สอบได้ที่โหล่ของห้อง โดนคอมเมนต์งานจนไม่เหลือชิ้นดี จนทำให้รู้สึกว่าเราต้องเก่งขึ้น ต้องพัฒนาขึ้นแต่สำหรับบางคน ต่อให้ทำดีจนได้รับคำชมหรือรางวัลมามากแค่ไหน พวกเขาก็ไม่สามารถถอนความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งออกไปได้ นั่นคืออาการที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของ imposter syndrome วันนี้ พวกเราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับอาการนี้ว่ามันมีที่มาจากอะไร? และหากคุณกำลังมีสัญญาณของ imposter syndrome อยู่ ต้องทำอย่างไรบ้างคุณถึงจะก้าวข้ามมันไปได้?

Imposter Syndrome คืออะไร สัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะนี้มีอะไรบ้าง

ภาพรวมของ imposter syndrome 

               แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น syndrome แต่ imposter syndrome ไม่ได้เป็นอาการป่วย
แต่อย่างใด หากแต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้คนเมื่อตัวของพวกเขาเองรู้สึกว่ายังทำดีไม่พอยังเก่งไม่พอ ทั้งที่ผลงานของพวกเขาก็ไม่ได้แย่เลย และเมื่อพวกเขาได้รับรางวัลหรือสร้างผลงานที่สุดยอดออกมาให้โลกได้ประจักษ์ พวกเขาจะมองว่าเป็นเพราะโชคหรือความเหมาะเจาะของเวลาเสียมากกว่าความสามารถของตัวเอง หรือถ้าเป็นหนักหน่อย ภาวะนี้อาจจะทำให้
เจ้าตัวเกิดความกลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าตัวเองไม่เก่งจริง ๆ ภาวะนี้จึงทำให้เกิดทั้งความเครียดและความวิตกกังวลจนอาจส่งผลต่อทั้งชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวได้

การทำงานหนักเป็นปัจจัยหนึ่งของภาวะ imposter syndrome

ที่มาของ imposter syndrome

               ปัจจัยที่ทำให้เกิด imposter syndrome มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก บางคนก็เกิด imposter syndrome ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ หรือบางคนเริ่มมีภาวะนี้ตอนเข้าสู่โลกของการทำงาน

               สำหรับปัจจัยภายใน คนที่มีภาวะ imposter syndrome มักจะเป็นคนที่ชอบทำงานหนัก ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจนไม่ได้พักผ่อน คนที่มีความเป็น perfectionist สูง (perfectionist คืออะไร หาคำตอบได้ ที่นี่) คนที่ชอบเป็นเดอะแบก ทำงานอะไรก็จะแบกไว้คนเดียว หรือแม้แต่อัจฉริยะที่เรียนรู้เร็วก็มีโอกาสเป็น imposter syndrome ได้เพราะจะรู้สึกว่าความรู้ที่ตัวเองมีอยู่มีไม่มากเพียงพอ ภาวะนี้อาจพบได้ในคนที่มีอารมณ์แปรปรวน ผู้ป่วยโรควิตกกังวล และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน 

               สำหรับปัจจัยภายนอก สภาพแวดล้อมส่งผลต่อการเป็น imposter syndrome ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น สมัยเรียนอาจถูกพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์กดดันให้เรียนเก่ง เวลาถึงวันรวมญาติจะโดนเปรียบเทียบกับความสำเร็จของลูกพี่ลูกน้อง หรือแรงกดดันจากที่ทำงานให้ทำอะไรทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นต้น

สัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะ imposter syndrome

สัญญาณของ imposter syndrome

       1)    กังวลวน ๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด

               อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าคนที่มีภาวะ imposter syndrome มักจะมีความคิดว่าตัวเองไม่เก่ง พวกเขาจึงมักจะทำอะไรให้ “มากกว่า” เสมอ ซึ่งนั่นเป็นต้นเหตุให้พวกเขามีความคาดหวังต่อสิ่งที่พวกเขาทำและนำไปสู่ความกังวลว่าจะมีอะไรที่ผิดไปจากที่คาดไว้หรือเปล่า และแม้แต่ในทุกความสำเร็จ พวกเขาก็จะกลัวคนอื่นรู้ว่าตัวเองไม่เก่ง (เพราะพวกเขาไม่เคยรับรู้ถึงความสามารถของตัวเองได้) จึงยกผลประโยชน์ให้กับอย่างอื่นแทน เช่น ดวง ความช่วยเหลือที่ได้รับ เป็นต้น 

       2)    ไม่รู้สึกดีกับคำชื่นชม

               ความสำเร็จย่อมมาคู่กับคำชื่นชม โดยปกติ ถ้าคนได้รับคำชื่นชม ส่วนใหญ่มักจะตอบกลับด้วยท่าทางยินดี หรืออาจจะรู้สึกเขิน ๆ หน่อยแต่ก็ภูมิใจในความสำเร็จที่เกิดขึ้น
แต่สำหรับคนที่มีภาวะ imposter syndrome พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้คำชื่นชมสรรเสริญใด ๆ เพราะพวกเขายังเก่งไม่พอ พวกเขาไม่เหมาะสมที่จะได้รับมัน ใครที่มีอาการนี้อยู่ ลองสำรวจตัวเองกันด้วยว่าเราแค่เป็นคนถ่อมตนหรือเรามีภาวะนี้อยู่จริง

       3)    หมกมุ่นกับสิ่งที่ยังค้างคาอยู่

               แม้ว่าจะผ่านความสำเร็จมาอย่างโชกโชน พวกเขาก็ไม่เคยโอบรับความสำเร็จนั้นมาไว้กับตัวเลย กลับกัน พวกเขามองเห็นอยู่เพียงสิ่งเดียว นั่นก็คือ “ความไม่สำเร็จ” อะไรที่พวกเขายังทำค้างคาไว้อยู่ พวกเขาจะโฟกัสแต่สิ่งนั้น และยิ่งถ้าพวกเขาล้มเหลวในการทำสิ่ง
ดังกล่าว พวกเขาจะเฟลหนักมาก ราวกับทุกอย่างที่พวกเขาเคยทำได้พังทลายลงไป

การหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ค้างคาเป็นสัญญาณหนึ่งของ imposter syndrome

วิธีก้าวข้าม imposter syndrome

       1)    เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลิ้มรสความสำเร็จและความภูมิใจบ้าง

               เป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้กับผู้ที่มีภาวะ imposter syndrome
โดยให้เจ้าตัวได้ใส่ใจกับผลงานและความสำเร็จของตัวเองบ้าง อาจจะใช้วิธีเขียนสิ่งที่ทำสำเร็จลงในไดอารี่ไว้ เผื่อวันไหนที่เริ่มรู้สึกไม่ดีกับตัวเองจะได้กลับมาเปิดอ่าน
ความสำเร็จของตัวเองและเติมเต็มในส่วนนี้อีกครั้ง

       2)    สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตัวเอง

               อย่างที่กล่าวไว้ช่วงต้นของบทความ สิ่งแวดล้อมมีผลต่อภาวะ imposter syndrome
วิธีการที่ง่ายที่สุดในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ช่วยทำให้ภาวะนี้ดีขึ้นก็คือการหาคนที่รู้สึกสบายใจด้วยและไว้ใจได้มาเป็นคนเติมเชื้อเพลิงให้ตัวเอง อาจจะเป็นคนรอบตัวหรือ
ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ ถึงแม้จะไม่ได้ทำให้ภาวะนี้หายขาดแต่ก็สามารถเป็นพลังให้กับคนที่เจอกับภาวะนี้ได้ 

       3)    เรียนรู้ว่าความไม่เพอร์เฟ็กต์และความผิดหวังเป็นเรื่องปกติในชีวิต
               ของทุกคน  

               เพราะในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีใครไม่เคยเจอกับความผิดหวัง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนที่มีภาวะ imposter syndrome ควรจะเก็บมาไว้ระลึกเรื่อย ๆ เพื่อให้ยอมรับกับความเป็นจริงของโลกได้ นอกจากนั้น การทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้นจะช่วยทำให้เรามองเห็นข้อดีและข้อเสียของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป ส่วนอะไรที่เคยทำพลาดไปก็ไม่จำเป็นต้องไปจมอยู่กับมัน เรียนรู้ที่จะทำให้ดีขึ้นในแบบของตัวเอง เป็นวิธีการที่ช่วยรักษาสมดุลระหว่างความทะเยอทะยานในการพัฒนาตัวเองและ
การยอมรับในความผิดพลาดได้อย่างดี

คนที่มีภาวะ imposter syndrome ควรระลึกไว้ว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ

               สำหรับใครที่กำลังตามหางานในองค์กรที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ทำให้เกิดภาวะ imposter syndrome แถมพร้อมสนับสนุนการเติบโตของพนักงาน สามารถค้นหาองค์กรที่เหมาะกับตัวคุณได้ที่ www.jobtopgun.com เว็บไซต์ที่รวบรวมงานมากกว่า 5,000 ตำแหน่ง รวมถึงสามารถอ่านรีวิวบรรยากาศการทำงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นตัวช่วย
ในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..