รับมือกับเพื่อนร่วมงานสาย Perfectionist อย่างไรให้อยู่หมัด
Perfectionist อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว

             ที่ทำงานที่เพอร์เฟกต์แค่ไหนก็ย่อมมีอะไรที่ขัดใจแฝงอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นอาจมาในรูปแบบของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเราต้องใช้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเอาชนะความไม่สบายใจจากเพื่อนร่วมงานหลากรูปแบบให้ได้ สำหรับวันนี้ พวกเราขอหยิบยกวิธีการรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่เป็น Perfectionist มาให้ทุกคนได้ลองอ่านกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริงแบบ 100% กันนะ!

รู้จักกับ Perfectionist ทั้ง 3 แบบ และวิธีรับมือคนกลุ่มนี้ในที่ทำงาน

Perfectionist อาจถูกมองว่าเป็นคนเยอะ

แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ Perfectionist กันก่อนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

             Perfectionist หรือคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ก็คือคนที่พยายามจัดการกับสิ่งรอบตัวให้ดูสมบูรณ์แบบมากที่สุด เช่น การจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบทุกเช้า การวางแผนกิจกรรมที่ต้องทำลงไปในปฏิทินอย่างละเอียด เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้ป่วย เพียงแค่เป็นบุคลิกของเขาที่ต้องการเห็นทุกอย่างเรียบร้อย ไร้ที่ติ และไล่จัดการกับสิ่งที่ไม่เป็นระเบียบทุกอย่าง จนคนอื่นอาจมองได้ว่าเป็นคน “เยอะ”

             ต้องขอบคุณศาสตราจารย์กอร์ดอน เฟล็ตต์ (Gordon Flett) และศาสตราจารย์พอล เฮวิตต์ (Paul Hewitt) ที่ได้ทำการวิจัยและค้นพบว่า Perfectionist นั้นไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว แต่กลับมีถึง 3 ด้วยกัน!

แบบแรก คนที่พยายามทำให้งานของตัวเองสมบูรณ์แบบมากขึ้นไปอีก

1. พยายามทำให้ตัวเองสมบูรณ์แบบที่สุด (Self-oriented Perfectionist)

             Perfectionist ประเภทนี้จะสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างน้อยที่สุด เพราะพวกเขาเหล่านี้จะคาดหวังความเพอร์เฟกต์จากตัวพวกเขาเองเท่านั้น ต่อให้คนอื่นบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นเพอร์เฟกต์แล้ว แต่พวกเขาก็ไม่หยุดที่จะทำให้เพอร์เฟกต์ยิ่งขึ้นไปอีก 

             สิ่งที่ต้องรับมือกับ Perfectionist ประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องของการส่งต่องานไม่ตรงเวลา เพราะพวกเขาจะพยายามทำงานให้ออกมาดีจนพอใจก่อนส่ง (ซึ่งพวกเขามักจะหาจุดที่ต้องปรับปรุงได้เสมอแหละ) ดังนั้น เราต้องขีดเส้นใต้ตัวโต ๆ ให้พวกเขาได้รู้ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องเวลานะ รวมถึงทำให้พวกเขารับรู้ว่างานของพวกเขานั้นดีพร้อมที่จะนำไปใช้แล้ว หรือแนะนำสิ่งที่ทำให้คนที่รับงานไปทำต่อทำงานได้สะดวกขึ้น

             อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้คือความกังวล เราอาจจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีเวลาพวกเขารู้สึกว่าตัวเองยังทำดีไม่พอ และคอยย้ำให้พวกเขาได้รู้ว่างานที่พวกเขาทำนั้นดีแล้ว เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ชื่นชมกับความสำเร็จแทนที่การมองหาแต่สิ่งที่ต้องพัฒนาบ้าง หรือหากพวกเขาให้ความสำคัญผิดจุดอยู่ก็ต้องบอกพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่แค่นั้น ต้องสื่อสารให้พวกเขารู้สึกได้เช่นกันว่าพวกเขามีคนคอยสนับสนุนเสมอ

แบบที่ 2 คนที่คาดหวังให้คนอื่น perfect

2. พยายามทำให้คนอื่นสมบูรณ์แบบที่สุด (Other-oriented Perfectionist) 

             Perfectionist ประเภทนี้จะเป็นที่ปวดหัวของคนอื่นที่สุดเพราะพวกเขาจะโยนความคาดหวังอันหนักอึ้งไปใส่คนอื่นไปทั่ว ทำผิดพลาดไปนิดเดียวก็สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ในมุมหนึ่ง กลุ่มคนประเภทนี้ก็จะคอยสอดส่องส่วนที่ตกหล่นของทีม ทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้นได้ แต่ก็สามารถกลายเป็นไม้บรรทัดฟุตเหล็กที่เอาบรรทัดฐานของตัวเองไปฟาดฟันคนอื่นไปทั่วก็ได้เช่นกัน คนเหล่านี้เลยมักจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ยาก

             วิธีการรับมือกับ Perfectionist ประเภทนี้จึงมักจะต้องเริ่มที่ตัวเราเอง พยายามเซฟความรู้สึกของตัวเองให้ได้มากที่สุดในทุกวิถีทาง เช่น ลองขีดเส้นกั้นไม่ให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในที่ทำงานไปเจือปนในช่วงเวลาที่เราได้พักผ่อน ไม่ปล่อยให้ความเยอะของ Perfectionist ประเภทนี้มาบั่นทอนความมั่นใจของเราด้วยการชื่นชมกับความสำเร็จของตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม พูดคุยกับเพื่อน ๆ ร่วมสถานการณ์เดียวกันเพื่อแชร์มุมมองและวิธีการรับมือกับเรื่องนี้ เป็นต้น

             หรือถ้ามองเรื่องนี้ในแง่ดี นี่อาจจะเป็นโอกาสในการอัปเลเวลของตัวเองก็ได้ ลองสังเกตดูว่า Perfectionist เหล่านั้นมักจะบ่นเราเรื่องอะไรมากที่สุด ถ้าเราเช็กกับตัวเองและคนรอบข้างแล้วว่าเรายังอ่อนเรื่องนี้จริง ๆ ก็ต้องพยายามหาวิธีปิดข้อด้อยนั้นให้ได้ แม้จะไม่ได้ทำให้โดนจิกน้อยลงขนาดนั้นแต่ก็ทำให้ตัวเราได้โตขึ้นนะ

แบบที่ 3 คนที่พยายามเป๊ะเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

3. พยายามทำให้สมบูรณ์แบบในสายตาคนอื่น (Socially Prescribed Perfectionist)

             Perfectionist ประเภทนี้จะมีความแตกต่างจาก 2 ประเภทแรกตรงที่ 2 ประเภทแรกจะพยายามทำทุกอย่างให้เป๊ะเพื่อตอบสนอง “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสบายใจ” ของตัวเอง แต่ Perfectionist ประเภทนี้จะพยายามทำให้คนอื่นที่มองเข้ามาเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นเพอร์เฟกต์เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการอยู่ลึก ๆ คือ “การได้รับการยอมรับจากสังคม” พวกเขาเชื่อว่าความเป๊ะจะทำให้สังคมยอมรับและชอบพวกเขา ดังนั้น เราอาจจะไม่เดือดร้อนกับคนกลุ่มนี้มากนอกจากตอนที่มีส่วนงานที่คาบเกี่ยวกันหรือเวลาที่ผลงานออกมาในรูปแบบงานกลุ่ม ไม่ใช่งานเดี่ยว

             วิธีการรับมือกับ Perfectionist ประเภทนี้ก็คือ อะไรที่เราทำไว้ดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป อะไรที่เราทำให้ดีขึ้นได้ เราก็พยายามให้เขาหน่อย ถ้ามองในแง่ดีก็คือเราได้พัฒนาตัวเองไปด้วย แต่ถ้าเรามีพื้นที่ให้พัฒนาอีกเยอะในสายตาพวกเขา เราก็อาจจะเหนื่อยนิดนึง อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้ติดบ่วงของความเพอร์เฟกต์คือท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า ไม่มีอะไรที่เพอร์เฟกต์ไปหมดหรอก ไม่จำเป็นต้องรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจล่ะ

             ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เราควรพยายามทำความเข้าใจ Perfectionist ทุกประเภท และสื่อสารอย่างซื่อตรงกับพวกเขาเพื่อที่จะหาจุดตรงกลางที่กลมกล่อมระหว่างกัน เมื่อพวกเขาเริ่มไว้ใจเรา พวกเขาก็อาจจะมาจู้จี้กับเราน้อยลงก็ได้

ทำความเข้าใจและสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ตรงๆ เพื่อหาจุดร่วม

แต่ถ้าเจอ Perfectionist ที่ toxic เกินไปจนใจพัง ก็มาหางานใหม่ที่ Jobtopgun เถอะ!

             จะทนกับ Perfectionist ที่เกินเยียวยาทำไมในเมื่องานใหม่ก็รออยู่เต็มไปหมด! ไม่ว่าจะเพิ่งเรียนจบใหม่หรือกำลังมองหางานใหม่อยู่ก็หางานโดนใจได้ที่ www.jobtopgun.com เว็บไซต์ที่รวบรวมงานในหลากหลายสายงานกว่า 5,000 ตำแหน่ง พร้อมตัวช่วยในการสร้าง resume ชั้นยอดอย่าง Super Resume ที่ฉายสปอตไลท์ไปที่จุดเด่นในตัวคุณ รวมถึงสามารถอ่านรีวิวเงินเดือน เพื่อนร่วมงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com  

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..